คำว่า “ธีม” เป็นคำเล็ก ๆ แต่ดูแหมือนจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกกังวล เป็นภาระ เมื่อได้รับโจทย์ให้ไปคิดธีมการประชุมวิชาการประจำปี เพื่อเตรียมแผนปฏิบัติงานของสมาคม ให้ก้าวเดินไปอย่างมีทิศทาง แม้ว่ากรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์สูง คิดเร็ว ตอบโจทย์ได้ทันที

ในทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาประยุกต์ เชื่อว่าคนเรามีกระบวนการรู้คิดสองแบบคือ กระบวนการที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว คิดออกโดยอิสระ ฉับพลันเป็นอัตโนมัติ (automatic) ด้วยปัญญาญาณ (intuitive) และจิตใต้สำนึกเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งมักเจือด้วยอารมณ์ และความคุ้นเคยส่วนตัว) ส่วนอีกกระบวนการหนึ่งเป็นไปอย่างช้าๆ สุขุม รอบคอบ (deliberate) และใช้จิตสำนึก (conscious) ที่มีเหตุผลในเชิงการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ การทำความเข้าใจ ความหมาย ความสำคัญ และศึกษาตัวอย่างธีม จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการคิดช้า

ความหมายของ Theme

คำว่า Theme สามารถแปลไทย ได้หลายคำ เช่น หัวข้อ เนื้อความ แก่นเรื่อง อรรถบท สาระสำคัญ หัวข้อการอภิปราย ตัวบท แนวบทเพลง กระทู้ หรือทับศัพท์ว่า ธีม

ในเชิงความหมาย ธีม หมายถึงแนวคิดหลัก หรือหัวข้อสำคัญ โดยทั่วไปมักปรากฏอยู่ในงานเขียน ธีมที่โดดเด่นมักจะเผยให้เห็นว่างานนี้เกี่ยวกับอะไร และใช้เป็นตัวช่วยให้เกิดการก่อรูป การหยั่งรู้ และการวิเคราะห์ ธีมอาจประกอบด้วย คำหนึ่งคำ สองคำ หรือมากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น ที่ประชุมวิชาการ อาจขอให้สมาชิก สำรวจแนวคิดสอดคล้องกับ “วิถีชีวิตใหม่” หรือ “new normal” หรือประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การปรับให้เหมาะกับวิถีชีวิตใหม่ อย่างไรก็ตาม การสร้างธีมให้ตรงใจจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอ่านงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน เพื่อให้เห็นตัวอย่างของประเด็นที่ชัดเจน อ้างอิงได้ และคิดธีมขึ้นใหม่ โดยไม่ซ้ำใคร อย่างไรก็ตาม คำว่าธีม ที่ใช้กันทุกวันนี้มีความหมายต่างกันไป

ความสำคัญของ Theme

สมาชิกสมาคม และคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสนใจในการเข้าอบรม สัมนา หรือร่วมกิจกรรมพิเศษ (events) ทางวิชาการ ต่างก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และความทรงจำที่ดี จากการเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษนั้น ธีมเป็นทางเลือกแรกที่ตอบสนองความหวังของผู้เข้าร่วมกิจกรรม สำหรับผู้จัด (กรรมการสมาคม) ธีม คือตัวกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จ (catalyst for success) ในการดำเนินกิจการ

ในส่วนของผู้จัดงาน/กิจกรรม ถือว่าการเสนอธีมเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้น ที่จะต้องมีการคิดมาอย่างดี สามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้ง่าย และรวดเร็ว ธีมควรสะท้อนถึง วัตถุประสงค์ของกิจกรรม และเมื่อรวมวัตถุประสงค์ของกิจกรรมเข้ากับธีม ต้องสะท้อนถึงภาพลักษณ์ ความทันสมัย และความเป็นผู้นำทางวิชาการของเจ้าภาพ

ธีมการจัดประชุมวิชาการ หรือกิจกรรมพิเศษ เป็นการสื่อสาร ที่เจ้าภาพแจ้งสารสนเทศถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีคุณภาพ ยิ่งกว่านั้นถ้าธีมที่เสนอออกไปมีคุณค่า ชวนติดตาม ทำความเข้าใจได้ง่าย ผู้วางแผนปฏิบัติงานจะทำงานในทุก ๆ รายละเอียดของกิจกรรมได้ง่ายขึ้น

การเลือกธีมได้ดี จะทำให้การจัดประชุมทางวิชาการของสมาคม เป็นที่กล่าวขานกันในสังคม และเมื่อมีการปรับกิจกรรมย่อยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์สมาคม และความต้องการของสมาชิก ธีมจะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ช่วยประกาศให้เห็นถึงความตั้งใจดำเนินกิจการของสมาคม

ธีมจึงไม่ได้เป็นเพียงผลผลิตเชิงสร้างสรรค์ของเจ้าภาพผู้จัดประชุมวิชาการเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถถ่ายทอดวัตถุประสงค์ของงานได้อย่างคมชัด และทำให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมมีแนวคิดในทำนองเดียวกัน ธีมที่เลือกมาอย่างดี ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และในกรณีที่มีธีมย่อยยิ่ง สามารถช่วยให้สรุปวัตถุประสงค์ของงาน ได้เพียงแค่ใช้ไม่กี่คำ และดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจาก จดหมายเหตุฉบับแรกของสมาคมพฤติกรรมศาสตร์ ว่าด้วยเรื่อง “Theme” เนื้อหาฉบับเต็มสามารถ Download ได้ที่ จดหมายเหตุสมาคมพฤติกรรมศาสตร์ ฉบับที่ 1

Download