พฤติกรรมศาสตร์ในความภูมิใจ…
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสหยิบเอาหนังสือชื่อ “Future Human Behavior: Understanding What People Are Going To Do Next” โดย Thimon De Jong ผู้เชี่ยวชาญผู้โด่งดัง และถือเป็น Influences ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาและการอธิบายปรากฏการณ์ของพฤติกรรมนุษย์และวัฒนธรรมทางธุรกิจสมัยใหม่ อาจารย์ได้พูดถึง โลกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วอันน่าอัศจรรย์ใจทั้งในด้านสังคมและเทคโนโลยี พฤติกรรมของมนุษย์เองก็เช่นกัน เราต่างก็ได้รับอิทธิพลอย่างต่อเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างตลอดเวลา ความพยายามในการทำนายว่าพฤติกรรมใหม่ ๆ ของมนุษย์ในโลกอนาคตเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร? และอะไรคือความหมายของการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาในสังคมแห่งอนาคต
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าผมโชคดีที่ได้ศึกษาในสาขาทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ เพราะผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ลึกลับและสามารถที่จะศึกษาค้นคว้าได้อย่างไม่จบสิ้นไม่สิ้น และศาสตร์ต่าง ๆ ถูกนำมาใช้ในการศึกษาเชื่อมโยงเข้ากับพฤติกรรมมนุษย์มากมาย และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทวีความลึกซึ้ง ซับซ้อน นึกถึงสมัยเรียนปริญญาเอกตอนอยู่ ปี 1 ที่คณาจารย์ที่สอนเราในวันแรก (Team Teaching) ได้ให้เราอ่านบทความฉบับหนึ่ง ที่อธิบายว่า ทฤษฎีต่าง ๆ ที่ใช้ในการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์นั้นก็เปรียบเสมือนหน้าต่าง (Theories as Windows) การที่เรามองพฤติกรรมมนุษย์ก็เสมือนกับเราเปิดหน้าต่าง ยิ่งเราเปิดหน้าต่างหลายบานเท่าไรเราก็จะมองเห็นภาพวิวทิวทัศน์ได้มากขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมนักพฤติกรรมศาสตร์นั้นจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์นั้นกว้างขวางและมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทุกเมื่อเชื่อวัน หากเราเลือกที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่เราคงจะไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของมนุษย์สมัยใหม่ว่า มันมีวิถีของการเกิดและการดำรงอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร
แม้ว่าโลกเราจะมีการพัฒนาวิทยาการด้านต่าง ๆ ก้าวล้ำรุดหน้าไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิศวกรรม การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ แต่เรายังพบว่าเรามีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราน้อยมาก การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์ใจ ซึ่งจะชวนให้เราจะต้องแสวงหาองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ Jong พูดติดตลกว่ามันเป็นยุค Post-Photoshop Era ยุคที่เราพบเป็นข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในโลกสังคมออนไลน์ทั้งที่เป็นความจริงไปจนถึงเรื่องราวที่โกหกหลอกลวงอย่างร้ายกาจ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งนั้น และภายใต้วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการสมคบคิด (Conspiracy Culture) จะเป็นสิ่งที่ท้าทายพวกเรา พี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการพฤติกรรมศาสตร์ ให้ลงมือทำการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ภายใต้ปรากฏการณ์อันหลากหลายนี้และน่าสนใจเหล่านี้ เชื่อว่าท้ายที่สุดเราจะเป็นที่พึ่งให้กับสังคม ตลอดจนองคาพยพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ และผมเองก็เชื่อว่าเราทุกคนต่างก็มีความสุขกับการที่ได้เดินทางในเส้นทางนี้ร่วมกัน ผมเองรู้สึกภาคภูมิใจกับการศึกษาในศาสตร์สาขา “การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์” ศาสตร์ที่ทำให้ผมได้มองโลกอย่างมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เท่าที่เซลล์สมองจำนวนประมาณ 8.6 หมื่นล้านเซลล์ของผมจะสามารถนำพาไปได้ ผมเองรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคณาจารย์ทุกท่าน ๆ อย่างมากมายเกินกว่าที่จะจินตนาการได้หมด ท่านทำให้ผมได้มีโอกาสก้าวย่างและเติบโตในโลกของพฤติกรรมศาสตร์ ทำให้ผมได้เป็น ได้คิด ได้ทำ ได้นำ ได้ให้ ตลอดจนอาจจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับใคร ๆ อีกหลายคนที่อยากที่ก้าวเข้ามาร่วมเส้นทางในโลกของพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งที่ผมจะสามารถรับรู้ได้และไม่ได้ก็ตาม
เอกสารอ้างอิง:
- Jong, T. D. (2023). Future Human Behavior: Understanding What People Are Going To Do Next. New York: Routledge, Taylor & Francis Group.
- Terrell, J. E., & Terrell, G. S. (2020). Understanding the Human Mind: Why you shouldn’t trust what your brain is telling you. New York: Routledge, Taylor & Francis Group.