สมรรถนะมนุษย์ในมุมมองพฤติกรรมศาสตร์

การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งมีความลึกซึ้งและซับซ้อนจึงจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายมาประกอบกันเพื่อทำความเข้าใจและอธิบายพฤติกรรมเหล่านั้น หากเปรียบการศึกษาพฤติกรรมศาสตร์เป็นทรงกลมจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีการศึกษาและวิจัยพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งเชิงลึกดิ่งลงสู่จุดศูนย์กลางของทรงกลม คือ มุ่งเน้นหรือเฉพาะเจาะจงลงไปในพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งของมนุษย์และเชิงกว้างกระจายและครอบคลุมไปตามพื้นผิวทรงกลม คือ ศึกษาพฤติกรรมอย่างหลากหลาย เหมือนและแตกต่าง ยั่งยืนและผันแปร คงที่และเปลี่ยนแปลงตามแต่บริบท พื้นที่และช่วงเวลาทำให้การศึกษาพฤติกรรมศาสตร์มีความน่าสนใจและยังคงมีเรื่องให้ต้องศึกษาอยู่เสมออย่างไม่สิ้นสุด

พฤติกรรมศาสตร์เป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เพราะการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะนำทฤษฎีใดเพียงทฤษฎีเดียวมาอธิบายได้อย่างถ้วนทั่วทั้งหมดเนื่องจากพฤติกรรมมนุษย์อาจเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกของมนุษย์แต่ละคนที่แตกต่างกันซึ่งเปรียบดุจสีสันที่มีเฉดสีแตกต่างและหลากหลายออกไปตามแต่ละบุคคล ดังนั้นนักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์จึงต้องเป็นผู้รอบรู้ด้านแนวคิดและทฤษฎีที่หลากหลาย รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยซึ่งส่งผลต่อความแปรเปลี่ยนไม่คงที่หยุดนิ่งของมนุษย์เพื่อให้นักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์สามารถนำความรู้เชิงทฤษฎีไปใช้ในการอธิบาย ทำความเข้าใจ ทำนาย ควบคุมและปรับพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในแนวทางที่ดีและเหมาะสมอันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและโลกต่อไป

การศึกษาสมรรถนะเป็นหนึ่งในการศึกษาพฤติกรรมศาสตร์โดยองค์ประกอบของสมรรถนะมนุษย์มักอุปมาเป็นรูปภูเขาน้ำแข็งเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่พ้นน้ำซึ่งสามารถมองเห็น สังเกตรับรู้ได้จากประสาทสัมผัส ได้แก่ ความรู้และทักษะ และส่วนที่อยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่าส่วนที่พ้นน้ำแต่กลับยากต่อการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เช่น แรงจูงใจ เจตคติ และคุณค่าภายในตน อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของสมรรถนะทั้งหมดส่งผลต่อการทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาสมรรถนะของมนุษย์ให้มีศักยภาพมากขึ้น

ดังนั้นการศึกษาสมรรถนะจึงเป็นพฤติกรรมศาสตร์ที่ผู้สนใจศึกษาต้องเข้าใจทั้งปัจจัยภายในและภายนอกของมนุษย์โดยรอบรู้ทั้งทฤษฎีด้านจิตวิทยา สังคมวิทยาและศึกษาศาสตร์จึงจะสามารถทำความเข้าใจ อธิบายและกำหนดแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ยังคงเป็นความท้าทายของนักวิจัยพฤติกรรมศาสตร์และเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้รักการเรียนรู้ให้เข้ามาศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ศึกษาพฤติกรรมศาสตร์ยังสามารถนำศาสตร์สหวิทยาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในทุกมิติของชีวิตตนเองและผู้อื่น ครอบคลุมทุกบริบทพื้นที่ด้วยความเป็นสากลซึ่งเป็นจุดเด่นของพฤติกรรมศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มกำเนิดพฤติกรรมศาสตร์และยาวนานตราบจนปัจจุบัน

_______

ดร.ธนวัฒน์ ศรีไพโรจน์
นักวิจัยอิสระ (ด้านพฤติกรรมศาสตร์และการเรียนรู้)
ปร.ด. การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ (มีวิชาเรียน) รุ่นที่ 10