พฤติกรรมศาสตร์กับหมากล้อม

ผมจดจำได้เป็นอย่างดีว่าเข้ามาเรียนสาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์เพราะอะไร หัวข้อที่อยู่ในหัวของผมในตอนนั้น ไม่ไกลไปกว่าเกมหมากกระดานที่ผมเล่นมาเนินนาน เกมหมากล้อม และคิดว่ามีหัวข้อแล้วจบไวแน่นอน แต่เมื่อเริ่มศึกษาเรื่องนี้ระหว่างศึกษาจึงเริ่มรู้สึกถึงกำแพงอันสูงลิบและทอดยาวออกไปโดยไม่มีจุดสิ้นสุดและถอนเรื่องนี้ออกจากการเป็นหัวข้อทำวิทยานิพนธ์จบ แต่แล้วเมื่อวันที่สอบวัดคุณสมบัติครั้งแรกเสร็จสิ้น แม้ผมจะไม่ผ่านแต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสอบครั้งนี้ผ่านอาจารย์หลายท่าน กลับทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเราจะทำจบอย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว ควรเป็นความเหน็ดเหนื่อยที่ทำแล้วคนอื่นยอมรับ ผมจึงกลับเอาหัวเรื่องเกี่ยวกับการเล่นหมากล้อมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อเริ่มต้นการเดินทางอันแสนยาวนานในการทำวิทยานิพนธ์ซะที และการนำมาเป็นหัวข้อก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เพราะมันคือฝันร้ายในการทำวิทยานิพนธ์อย่างมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่เหมือนจะมีมากมายแต่แท้จริงแล้ว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นั้นกลับมีเพียงหยิบมือเท่านั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ผ่านการเล่นหมากล้อม

ถ้าเรียนสาขาอื่น ผมคงยอมแพ้และเปลี่ยนหัวเรื่องใหม่ไปแล้ว เพราะว่า ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่อะไรดี มีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับผลของการเล่นหมากล้อมต่อผู้เล่นในหลากหลายมิติ แต่เมื่อเจอกับคำถามของอาจารย์หลายท่านในสาขาพฤติกรรมศาสตร์ กลับทำให้เรากลับมาตั้งคำถามงานวิจัยเหล่านั้นว่า มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หากเราไม่สามารถตอบได้ มันไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะทำงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้แล้วเราไม่สามารถที่จะตอบคำถามว่าเกิดขึ้นมาอย่างไรได้ มันคงจะไม่มีใครยอมรับแน่แท้และมันก็ไม่สามารถนำงานนี้ไปใช้อะไรได้อีกด้วย การอ่านและค้นคว้าอย่างหนักหน่วงจึงเริ่มขึ้นอย่างมุมานะและไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทั้งระเบียบวิธีวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ แนวคิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาในการแสวงหาความจริงต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบในวิทยานิพนธ์ของผมให้ได้

หากเรียนในสาขาอื่น คงจะยอมแพ้อีกครั้งและเปลี่ยนหัวข้อไปอย่างแน่แท้ แต่เพราะพฤติกรรมศาสตร์เป็นการบูรณาการหลากหลายสาขาอย่างเป็นสหวิทยการ (InterDiscipline) ทำให้การผนวกเอาแนวคิดต่างสาขา ต่างศาสตร์โดยมีจิตวิทยาเป็นแนวหลักในการอธิบายการเกิดพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้ผมสามารถนำแนวคิดที่หลากหลายมาผสาน ผนวกเข้าด้วยกันและในที่สุดด้วยประสบการณ์การในการสอนหมากล้อมมายาวนาน เกือบ 20 ปี และการศึกษาค้นคว้าอย่างหนักหน่วง ผมก็สามารถคลำทางจนค้นพบที่แสนวิเศษนี้และมันเป็นการค้นพบอย่างยิ่งใหญ่มากซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบในหลายมุมมองอีกมาก แต่แน่นอนที่สุด มันคือการเชื่อมโยงความคิดหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน จนสามารถที่จะเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์และสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นระบบเช่นเดียวกันกับสิ่งที่ผมกำลังทำกับลูกศิษย์ของตนเองอยู่ แต่ด้วยการเชื่อมโยงหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ก็ทำให้งานชิ้นนี้เป็นงานที่สลับซับซ้อนยากจะเข้าใจสำหรับทุกคน และคิดว่าน่าจะมีคนจำนวนไม่มากที่จะสามารถพูดคุยในรายละเอียดนี้ได้ จนถึงข่าวความสำเร็จของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เล่นหมากล้อมนาม AlphaGo ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติจนกลบความน่าสนใจของงานนี้ แต่สำหรับผมแล้ววิทยานิพนธ์นี้เปรียบเสมือนทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ เพียงแต่ต้องการเวลาในการทำความเข้าใจ และอาจจะรอผมมาเรียบเรียงความคิดใหม่อีกทีเพื่อให้ง่ายในการนำเสนอให้ทุกคนได้เข้าใจปรากฏการณ์นี้

ท้ายที่สุดนี้ หากผมไม่ได้เรียนพฤติกรรมศาสตร์ คงไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ เพราะปัจจุบันนี้ เราคงไม่สามารถมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ได้ ด้วยมุมมองเดียวหรือมองด้วยศาสตร์เพียงศาสตร์เดียว เพราะมันทำให้เราเข้าใจมนุษย์ได้เพียงแค่มุมเดียว แต่เมื่อเรามองด้วยศาสตร์ที่หลากหลายและต่างมุม ทำให้เราสามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งรวมถึงแก้ปัญหาได้ถูกจุดอย่างมีลำดับขั้นตอนเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างยั่งยืนต่อไป และคงต้องพูดว่าผมคิดถูกจริง ๆ ที่เลือกเรียนสาขานี้ และเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ตนเองสนใจ ท่ามกลางการเปิดโอกาสให้ทำและให้การสนับสนุนทางความคิดจากคณาจารย์ทุกท่านในการทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้ จนสำเร็จลงได้ และความสำเร็จนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้มาศึกษาสาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์

_______

ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์
อาจารย์ประจำ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
สำนักการศึกษาทั่วไป สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์