พฤติกรรมศาสตร์กับใบชา

ถ้าเปรียบจักรวาลวิทยาศาสตร์เป็น ‘ใบชา’ หรือ ‘เปลือกตาของพระโพธิธรรม’ ที่ช่วยเบิกเนตรให้มองเห็น ให้ได้เข้าใจสิ่งใดๆ ที่เหนือกว่าอายตนะของเราแล้ว พฤติกรรมศาสตร์ก็คงไม่แคล้วเป็นรสชาติอันซับซ้อนลุ่มลึกแบบ ‘ชาผู่เอ๋อ’ ที่หมักบ่มมาเป็นระยะเวลานาน

เปรียบเปรยขึ้นมาแบบนี้อาจดูพิลึกกึกกือ แต่หากพิจารณาโดยถือเหตุผลว่า ‘พฤติกรรมศาสตร์’ เป็นการหลอมรวมหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างที่เรียกว่า ‘บูรณาการ’ มันคงไม่ต่างกันกับต้นชาโบราณที่ดูดซับแร่ธาตุมานานนับร้อยปี ก่อนนำไปหมักตามกรรมวิธีอย่างพิถีพิถัน ดังนี้แล้ว รสชาติที่ได้ย่อมลึกล้ำ ซับซ้อน

พูดแบบนี้อาจดูเหมือน ‘พฤติกรรมศาสตร์’ ตีความได้กว้างเหมือนหยั่งขาสองข้างอยู่บนแพ ไปเอาของคนอื่นมานิด ไปหยิบอันนี้มาหน่อย ทว่าขาดแก่นแกนกระนั้นหรือ? – เปล่าเลย

จะว่าไปแล้ว มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นไปซะทั้งหมด เพราะหากพิจารณาดูว่า ถ้าแบ่งมนุษย์เป็นสองสิ่งง่ายๆ อย่าง จิต-กาย แบบ เดส์การตส์ ที่ว่า จิตที่เป็นวัตถุแห่งการศึกษาของจิตวิทยา มันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยิ่งถ้ามองให้กว้างขึ้นถึงปัจจัยอื่นๆ ในเชิงสังคมวิทยา มองวัฒนธรรมในรูปแบบมานุษยวิทยา หรือคิดในแง่จิตวิญญาณจากนิทานปรัมปรามันก็คงทำนองเดียวกัน ดังนั้น การอธิบายพฤติกรรมซึ่งเป็นการกระทำของมนุษย์อันแสนจะซับซ้อนจะใช้ศาสตร์เดียวเพียวๆ ได้อย่างไร

ธรรมชาติของพฤติกรรมศาสตร์เป็นเช่นนี้ ช่างซับ และซ้อน

ไม่ต่างกับชาโบราณ ที่ไม่ว่าจะชิมดื่มยังไงก็ยากระบุให้ถึงรสอันเป็นแก่นแท้

ทีนี้ ลองพิจารณาต่อประเด็นที่ว่า ในขณะที่ศาสตร์อื่นๆ พยายามหาที่ยืนของตัวเอง พฤติกรรมศาสตร์กลับมีความเป็นปัจจุบันขณะ ไม่ยึดติด ไม่มีตัวกูของกู แถมยังคอยตั้งคำถามกับความเป็นไปได้ต่างๆ นานา ราวกับเป็นรสชาลุ่มลึกแห่งอนัตตาที่แฝงมาในรูปของปรัชญาการวิจัย (ถึงตรงนี้รสขมๆ คงเริ่มซึมออกมาให้พอสะดุ้ง) ที่จะเอามาชง มาต้ม มาตุ๋นดื่มแบบชาเห็นทีจะไม่ได้ แถมกว่าจะลิ้มรสได้ ก็ต้องลองมาศึกษา มาร่ำเรียนวิชา มาทำความเข้าใจ ค่อยๆ หมักบ่มสะสมไปทีละเล็กละน้อย จนนานวันนั่นแหละ รสชาติถึงจะค่อยซับซ้อน ลุ่มลึก รสขมลดลง (แต่บ่มรสธรรมไว้มากขึ้น – ฮา) ถึงตอนนั้นแล้ว ยิ่งดื่มก็คงจะยิ่งเห็น ยิ่งชิมก็จะยิ่งเข้าใจ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลยว่าจะได้ ‘พฤติกรรมศาสตร์’ มาชงดื่มสักถ้วย

เพราะถ้ามันง่าย….

3 ปีคงจบแล้วล่ะครับ อิอิ

_______
ภาสกร ยุรวรรณ
ศิษย์เก่า วท.ม. และศิษย์ปัจจุบัน ปร.ด.
สาขาวิชาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ (เน้นวิจัย)