อัตลักษณ์ “คนใน” การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์

การสร้างอัตลักษณ์เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ รับรู้ สั่งสม บ่มเพาะให้ความหมาย และคุณค่าโดย “คนใน” ภายใต้เงื่อนไขของเวลา สถานที่ และบริบท
อัตลักษณ์ของการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ถูกประกอบสร้างจาก “คนใน” อาทิ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิตปัจจุบัน ศิษย์เก่า บุคลากร และผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกคนต่างมีตัวตน ภูมิหลัง ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตน เมื่อเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันระยะหนึ่ง จึงเกิดการเรียนรู้รูปแบบพฤติกรรมเฉพาะ ตระหนักรู้คุณค่า และความหมายของวัฒนธรรมที่ถูกผสมผสานอย่างลงตัวร่วมกัน

อัตลักษณ์ร่วมทางสังคมของการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ คือ ชุมชนทางวิชาการที่สามารถแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการวิจัยได้อย่างอิสระ เปิดกว้างทางความคิด โอบรับความเห็นต่างอย่างหลากหลาย เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อสมอง และหัวใจ

การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งในมุมมองของศิษย์เก่า คนในสถาบัน และคนในศาสตร์ จนกระทั่งสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ให้สำเร็จลุล่วงนั้น นับได้ว่าเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่า และมีมูลค่าทางวิชาการสูง สร้างมาตรฐานทางวิชาการและการวิจัยให้กับตนเองในปัจจุบันและอนาคต

อัตลักษณ์ร่วมทางวิชาการของการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ คือ งานวิจัยที่มีการออกแบบที่รัดกุม การใช้เครื่องมือที่เข้มแข็ง การเก็บข้อมูลที่เข้มข้น และผลลัพท์เชิงประจักษ์ที่นำไปใช้ได้จริง

ผลผลิตงานวิจัยในหลักสูตรการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ถือได้ว่าบุกเบิก และแผ่วถางป่าดงดิบอันลึกลับ ซับซ้อน และวกวนทางวิชาการ ด้วยจุดยืนด้านกระบวนทัศน์แบบผสมผสาน อีกทั้งได้ทะลายกำแพงทางแนวความคิด ทฤษฎี และกระบวนการวิจัยที่ดำดิ่ง และดิ่งเดี่ยวไปในห้วงลึกของแต่ละศาสตร์ให้ทะลายลง ทะลุกรอบความคิดด้วยการบูรณาการศาสตร์ที่ทั้งมีจุดยืนร่วมและต่างจุดยืนทางกระบวนทัศน์กัน เพื่อสร้างสรรค์ถนนหนทางในแวดวงวิชาการให้ส่องสว่าง เป็นที่ยอมรับ ทั้งการออกแบบ กระบวนการ และการนำไปสู่การปฏิบัติจริง

_______

ผศ.ดร.ชวิตรา ตันติมาลา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม