การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์คืออะไร?
แม้จะมีคำอธิบายที่เป็นหลักแต่ดูเหมือนว่าคำตอบขึ้นอยู่กับประสบการณ์และองค์ความรู้ของผู้ที่ให้ความหมายเป็นสำคัญ

หากจะทำความเข้าใจถึงการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ สิ่งสำคัญที่นักวิจัยควรเข้าใจคือความหมาย “พฤติกรรมศาสตร์” ซึ่งดูเหมือนการให้ความหมายของคำนี้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และองค์ความรู้ของผู้ที่ให้ความหมายเป็นสำคัญ ดังนั้นการกล่าวว่า พฤติกรรมศาสตร์คืออะไร จึงมีคำตอบที่หลากหลายไปตามบริบทของผู้ตอบ แม้เป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนและมีประสบการณ์การทำวิจัยหรือการเป็นนักปฏิบัติด้านพฤติกรรมศาสตร์ก็สามารถให้ความหมายที่ต่างกันได้ การอธิบายพฤติกรรมศาสตร์ของแต่ละคนอาจอธิบายได้ไม่เหมือนกัน อยู่ที่องค์ประกอบหรือบริบทแวดล้อมที่ผู้อธิบายกำลังนึกถึง แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะของศิษย์เก่าและอาจารย์ประจำของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ที่เคยผ่านประสบการณ์การตอบคำถามของครูบาอาจารย์ หรือหากจะกล่าวกันจริง ๆ ก็นับตั้งแต่วันสอบสัมภาษณ์เข้าเป็นนิสิตของสถาบันฯ กรรมการสอบสัมภาษณ์ท่านก็ถามเป็นคำถามแรกๆ ว่า ในมุมมองของหนูพฤติกรรมศาสตร์คืออะไร ตอบมาเถอะตามความเข้าใจ ไม่มีมีผิดมีถูก ตอนนั้นก็สบายใจ เอาล่ะ ! ตามมุมมอง ไม่มีถูกมีผิด สบายแล้วเรา แต่ทว่าการตอบไป ณ ตอนนั้น เมื่อปี 2545 หลักใหญ่จะความจะไปเน้นที่การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ จำได้ว่าตอบยาวมากและวนไปวนมาอยู่ที่พฤติกรรมมนุษย์ กรรมการสอบท่านเมตตาอธิบายเพิ่มเติมว่า เราไม่มองแต่พฤติกรรมซึ่งตอนนั้นท่านใช้คำว่า ตัวแปรตาม แต่พฤติกรรมศาสตร์ยังดูตัวแปรต้นที่นำมาอธิบายพฤติกรรมที่ใช้หลากหลายศาสตร์ อยากรู้ต้องมาเรียน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสนใจในศาสตร์นี้อย่างจริงจัง

จากประสบการณ์การศึกษาเล่าเรียน บทบาทนักวิจัย อาจารย์ผู้สอนและดูแลการทำปริญญานิพนธ์ของนิสิตจากรุ่นสู่รุ่น การให้ความหมายของคำว่า พฤติกรรมศาสตร์ ก็ยังไม่เหมือนกันในทุกครั้ง แต่หลักใหญ่ใจความที่คงเส้นคงวาและปรากฏในการอธิบายทุกครั้ง คือ เป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์โดยอาศัยมุมมองจากศาสตร์ที่หลากหลายมากกว่าหนึ่งศาสตร์ขึ้นไปเพื่อให้เข้าใจและสามารถอธิบายการเกิดขึ้นของพฤติกรรมบุคคล กลุ่ม และสังคม ฉะนั้นจุดเน้นจึงอยู่ตรงที่นักวิจัยมีความเข้าใจถึงขอบเขตหรือพรมแดนความรู้ทางพฤติกรรมศาสตร์ว่าครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องกับศาสตร์ใดได้บ้าง โดยลักษณะสำคัญของการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ จะเกี่ยวข้องกับคำสำคัญ อันได้แก่ “พฤติกรรม” คือ ความจริงที่นักวิจัยต้องการศึกษา “ศาสตร์” คือระบบวิชาความรู้ที่ใช้สำหรับเข้าใจ อธิบายความจริงที่ศึกษาหรือใช้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติ และ “วิธีวิทยาการวิจัย” คือ วิธีการเข้าถึงความจริงเพื่อสร้างความรู้ ซึ่งจากคำสำคัญดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะของการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ ที่สำคัญ คือ 1) เน้นศึกษาความจริงที่ครอบคลุมพฤติกรรมมนุษย์ทั้งภายในและภายนอก 2) ใช้ศาสตร์แบบบูรณาการเพื่อศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ และ 3) เปิดกว้างสำหรับวิธีวิทยาการวิจัยที่เลือกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์

เขียนอธิบายมาถึงตรงส่วนท้ายนี้ก็ยังคิดว่าหากต้องเขียนเรื่องนี้อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า การอธิบาย คำว่า การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ก็คงมีคำอธิบายที่เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสิ่งที่กำลังนึกถึงเมื่อเขียนออกมา และนั่นคือเสน่ห์ของความเป็นพฤติกรรมศาสตร์ที่ต้องติดตามกันต่อไป

_______

ผศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ
อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
เลขาธิการสมาคมพฤติกรรมศาสตร์